วิศวะไฟฟ้าเรียนวิชาอะไรบ้าง ?
สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสามารถแบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ ได้หลากหลายด้วยกัน เช่น ไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าควบคุม ไฟฟ้าสื่อสารหรือโทรคมนาคม และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
1. สาขาไฟฟ้ากำลัง
เรียนเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและแปรรูปพลังงานอื่น ๆ มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ระบบแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ต่ำไปจนถึงสูง ระบบการส่งจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ทั่วไป งานที่เกี่ยวกับเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าแรงสูง การออกแบบระบบไฟฟ้า การวางวงจร การจ่ายไฟไปตามอาคารบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ
วิชาหลักที่น้อง ๆ จะต้องเจอ เช่น วงจรไฟฟ้า สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า เครื่องมือวัดทางไฟฟ้า เครื่องจักรกลไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากำลังและอุปกรณ์ป้องกัน วิศวกรรมไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น
2. สาขาไฟฟ้าระบบควบคุม
เรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ออกแบบ และการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างระบบควบคุมหรือที่คนทั่วไปมักจะเรียกกันว่า ระบบอัตโนมัติ เช่น สายพานลำเลียงในโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักรผลิตสินค้า ฯลฯ ดังนั้นผู้ที่จะเรียนในสาขานี้ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านสมการทางคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นแขนงย่อย ๆ ได้ดังนี้ ระบบควบคุมและการวัด ระบบหุ่นยนต์ และการควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม
3. สาขาไฟฟ้าสื่อสารหรือโทรคมนาคม
จะเรียนเกี่ยวกับระบบการสื่อสารต่าง ๆ เช่น ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบเรดาร์ ระบบวิทยุ ระบบโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต สัญญาณดิจิทัล เส้นใยแก้วนำแสง ฯลฯ ดังนั้นผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลด้านการสื่อสารอย่างครบวงจร ตั้งแต่กลไกการจัดการสัญญาณ การรับ-ส่งสัญญาณ การติดตั้ง การทดสอบ ไปจนถึงการซ่อมบำรุง
วิชาหลักที่น้อง ๆ จะต้องเจอ ได้แก่ การสื่อสารทางคลื่นแสงและไมโครเวฟ สื่อประสมและการประมวลสัญญาณ และ โครงข่ายโทรคมนาคมและสารสนเทศ
4. สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
เรียนเกี่ยวกับการออกแบบและการควบคุมวงจรไฟฟ้าทั้งวงจรแบบอนาล็อกและดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์ทุกชนิดที่มีไฟฟ้าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องบิน ยานอวกาศ และหุ่นยนต์ ฯลฯ
น้อง ๆ จะต้องเรียนครอลคลุมตั้งแต่เรื่องของวัสดุนานาชนิดที่นำมาผลิตเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการเขียนโปรแกรม และทำการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย วิชาเรียนที่จะต้องเจอ เช่น อิเล็กทรอนิกส์วิศวกรรม การวิเคราะห์วงจรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์กำลัง ไมโครคอนโทรลเลอร์ และการออกแบบวงจรดิจิทัลลอจิก เป็นต้น
คะแนนใช้ในการสมัคร (รอบแอดมิชชัน)
- GPAX
- O-NET
- GAT / PAT
** สำหรับการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าในรอบอื่น ๆ อาจจะมีความแตกต่างของคะแนนที่ใช้ไม่เหมือนกัน ซึ่งน้อง ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยหรือคณะ/สาขาวิชา ที่น้อง ๆ ต้องการได้เลยค่ะ
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
- จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.เกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.มหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.ธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
- ม.สงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.ขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.ศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.เชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.พะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.ศิลปากร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.นเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
- ม.มหาสารคาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ม.บูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?
- วิศวกรด้านไฟฟ้ากำลัง สามารถทำงานที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือดูระบบไฟฟ้าในโรงงานต่าง ๆ
- วิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ สามารทำงานได้ทั้งด้านคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อินเทอร์เน็ต ระบบสารสนเทศ
- วิศวกรระบบควบคุมและเครื่องมือวัด สามารถทำงานได้ในบริษัทที่มีกิจการเกี่ยวกับระบบควบคุมการผลิต สินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม
- วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำงานที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทเอกชนที่มีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
- วิศวกรด้านโทรคมนาคม (สื่อสาร) สามารถทำงานที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม ทีโอที เครือข่ายมือถือยี่ห้อต่าง ๆ ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น