วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความร้อน ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ มารวมกับวิธีการออกแบบ เปลี่ยนแปลง และควบคุมกระบวนการทำงานของวัตถุดิบ หรือเคมีภัณฑ์ ให้อยู่ในรูปแบบที่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้งาน
วิศวกรรมเคมี เรียนเกี่ยวกับอะไร ?
สำหรับน้อง ๆ ที่เข้าศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมเคมี จะเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพ การออกแบบอุปกรณ์ และการควบคุมกระบวนการทำงานทางเคมี รวมถึงเรียนรู้หลักการของกระบวนการผลิตเคมีในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควบคู่กับหลักเศรษฐศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันด้วย ทั้งด้านวิศวกรรมเคมีพื้นฐาน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น
โดยจะเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงส่วนผสม สถานะ และลักษณะของวัตถุดิบที่กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตามความต้องการอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เรายังจะต้องเรียนรู้วิธีการนำความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในการกระบวนการทำงานทางเคมี อีกด้วย
ใครเหมาะสมที่จะเรียน ?
- ต้องเป็นผู้ที่มีความถนัดทางด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี
คะแนนใช้ในสมัคร (รอบแอดมิชชัน)
- GPAX 20%
- O-NET 30%
- GAT 10%
- PAT1 (คณิตศาสตร์) 10%
- PAT2 (วิทยาศาสตร์) 30%
** สำหรับการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ในรอบอื่น ๆ อาจจะมีความแตกต่างของคะแนนที่ใช้ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งน้อง ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยหรือคณะ/สาขาวิชา ที่น้อง ๆ ต้องการได้เลยค่ะ
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
- สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
- สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี :
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
- สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น
- สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร
จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?
1. งานด้านกระบวนการผลิต
เช่น วิศวกรผลิต มีหน้าที่ในการควบคุม ดูแล และทำการปรับปรุง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้ง โรงงานอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงงานสารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น
2. งานด้านโครงการ
เช่น วิศวกรโครงการ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลงานโครงการต่าง ๆ ของโรงงานการผลิต ในลักษณะที่เป็นกระบวนการผลิตรวมไปถึงงานด้านการเตรียมความพร้อมของโรงงานก่อนเริ่มการผลิต อีกด้วย ฯลฯ
3. งานด้านการวางแผน พัฒนาธุรกิจ
เช่น วิศวกรออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงจะต้องทำการวิเคราะห์ บริหารโครงการ ดูแลงานด้านควบคุม และกระบวนการผลิต เป็นต้น
4. งานขาย งานตลาด และงานบริการด้านเทคนิค
เช่น การเป็นวิศวกรด้านปรึกษาการขาย งานบริการด้านเทคนิค รวมถึงงานวิจัยและพัฒนาด้วย ในภาคอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กระดาษ เป็นต้น
5. งานด้านดารวิจัย
เช่น นักวิจัยด้านเคมี ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งบริษัทเอกชน และรับราชการก็ได้ ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น